ลุยล้างบางอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ นำไทยสู่อุตฯ 5.0

31 มีนาคม 2568
ลุยล้างบางอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ นำไทยสู่อุตฯ 5.0

นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Industry 5.0 ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ก้าวข้ามความท้าทายเศรษฐกิจโลก” ในการจัดประชุมสามัญประจำปี 68 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่บั่นทอนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่วันนี้ไทยยังมีโอกาสพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 5.0 โดยอาศัยความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ควบคู่กับโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องนำมาเป็นจุดแข็งเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย

“ช่วงนี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมงานหนักเรื่องตึกถล่ม เดิมตั้งใจจะมาให้กำลังใจผู้ประกอบการ แต่พอมาถึงงานกลับได้รับกำลังใจจากทุกคน ขอบอกว่าไม่เหนื่อย จะทำงานอย่างเต็มกำลัง” นายเอกนัฏ กล่าว

โดยกระทรวงฯ ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เพื่อสร้างโอกาสและสร้างการเจริญเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยใช้หัวและใจในการทำงานเพื่อมุ่งสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส หรือนโยบาย 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง

ปฏิรูปที่ 1 จัดการกากสารพิษที่ทำร้ายชีวิตประชาชน โดยการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อคืนน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน เช่น การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า สนับสนุนเงินทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการเผาอ้อย การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 โดยเพิ่มโทษการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม น้ำเสีย อากาศเสีย จากโทษปรับ เป็นจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มอายุความจาก 1 ปี เป็น 5 ปี การจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ด้วยการผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรม การคัดแยก/กำจัดขยะและกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง

“ผมลุยแก้ปัญหาเรื่องสินค้าด้อยคุณภาพจนมีข่าวว่าถูกตั้งค่าหัว 200-300 ล้านบาท แต่คิดว่าวันนี้น่าจะเป็นพันล้าน แต่ก็ไม่กลัว” นายเอกนัฏ กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สิ่งที่กำลังทำไม่ได้ง่ายอย่างที่พูด แม้ยอดส่งออกจะเติบโต แต่จีดีพีกลับโตไม่มาก เพราะมีอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญที่ลักลอบเข้ามาดำเนินการ โดยหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า ไม่ขออนุญาตตั้งโรงงาน และทิ้งกากอุตสาหกรรมให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในประเทศ สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลปีละหลายหมื่นล้านบาท

“จะคุยกับบีโอไอเรื่องการปรับเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุน ไม่ดูเรื่องงบลงทุนอย่างเดียว ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ไม่เอา ไม่ยอมให้ถูกตราหน้าว่าเป็นที่ทิ้งขยะโลก และใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน ที่ผ่านมามีคนมาวิ่งเต้นเรื่องนี้แต่ผมไม่เอาด้วย” นายเอกนัฏ กล่าว

ปฏิรูปที่ 2 สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs ไทย ด้วยการปกป้องและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทย เช่น การป้องกันการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยสร้างความเท่าเทียมด้านกฎระเบียบและภาษีระหว่างร้านค้าที่มีหน้าร้านในไทย ผู้ประกอบการออนไลน์ที่อยู่ในไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการออนไลน์ต่างประเทศ ยกตัวอย่างการดำเนินงานที่กระทรวงฯ กำลังเร่งผลักดัน คือ การใช้ Big Data และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานใน E-Commerce ของประเทศ การแก้กฎระเบียบ/บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า กระบวนการผลิตสินค้าและวัตถุอันตรายและการนำเข้าที่ต้องควบคุมเป็นการทั่วไปในเขต Free Zone การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยผลักดันมาตรการ Made in Thailand และ SME GP ส่งเสริม SMEs และสตาร์ทอัพให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีและความรู้

ปฏิรูปที่ 3 สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง เครื่องมือแพทย์ ป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การขับเคลื่อนการสร้างเกษตรมูลค่าสูง โดยปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ยกระดับการพัฒนาสู่เกษตรอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดชนิดและคุณภาพวัตถุดิบในการผลิตของโรงงาน การส่งเสริมการทำเกษตรทันสมัย การเพิ่มผลิตภาพภาคการเกษตร การสนับสนุนเครื่องจักรที่ทันสมัย การบริหารต้นทุนของเกษตรกร และการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียวของประเทศ (Green GDP) มีมูลค่าสูงขึ้น และปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรม (เฉพาะโรงงานจำพวก 3) ที่เข้าโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวแล้ว 91% ซึ่งเรามีเป้าหมายในปีนี้ให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องเข้าโครงการทั้งหมด 100% และในปี 2570 ครึ่งหนึ่งของสถานประกอบการอุตสาหกรรมจะต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 3 หรือมีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ และคาดหวังว่าธุรกิจจะสามารถยกระดับไปสู่ระดับ 5 ได้ในท้ายที่สุด หรือมีการสร้างเครือข่ายสีเขียวครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับ 3 แนวทางภายใต้นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่

แนวทางที่ 1 สร้างความร่วมมือ พันธมิตร ห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยการปรับมาตรการและสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ของโลก

แนวทางที่ 2 สร้าง Ease of Doing Business เช่น การปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล โดยการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ แบบ One Stop Service ได้แก่ ระบบขออนุมัติ/อนุญาต (e-License) ระบบกำกับดูแล (e-Monitoring) ระบบรับชำระเงิน (e-Payment) และระบบรายงานข้อมูล (e-Report) รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

แนวทางที่ 3 จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้ง Hard Skills และ Soft Skills โดยเฉพาะกำลังคนกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในสายอาชีพและอาชีวศึกษา บุคลากรภาคอุตสาหกรรมและบุคลากรศักยภาพสูง เช่น นักพัฒนาเทคโนโลยีผู้เชี่ยวชาญทักษะ STEM เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัวสู่การทำงานร่วมกับ AI ในยุคของการปฏิรูปอุตสาหกรรม

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ มีความมุ่งมั่นในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก นำพาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 5.0 เร่งดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุน เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและผู้ประกอบการและก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นภายในประเทศ โดยได้จัดทำมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

เราจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมภายใต้บริบทความท้าทายในยุคอุตสาหกรรม 5.0 (Industry 5.0) ที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจใหญ่ของกระทรวงฯ ที่ไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้เพียงข้ามคืน และไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีการสานพลังจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นพลังหนึ่งที่สำคัญอย่างมากที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยของเราสามารถก้าวสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กระทรวงฯ พร้อมที่จะจับมือพาทุกคนฝ่าฟันวิกฤต และหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพื่อก้าวเดินไปด้วยกันสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลกต่อไป


แหล่งที่มา : อินโฟเควสท์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.